ข้อกำหนดกรุงเทพ

ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-Custodial Measures for Women Offenders) หรือ ข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules)
เกิดขึ้นภายหลังที่องค์การสหประชาชาติโดยที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 65 ได้ลงความเห็นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 ให้เป็นมาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง ที่ยอมรับกันในระดับสากล เพื่อให้ประเทศต่างๆ ได้ยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและผู้กระทำผิดหญิง โดยคำนึงถึงความแตกต่างทางด้านเพศสภาวะของผู้หญิงในเรือนจำและเด็กติดผู้ต้องขัง ภายหลังจากการรับรองข้อกำหนดกรุงเทพ นานาประเทศรวมถึงประเทศไทย องค์การระหว่างประเทศ หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมได้ริเริ่มส่งเสริมให้มีการนำเอาข้อกำหนดกรุงเทพไปปรับใช้



แนวคิดการพัฒนาข้อกำหนดกรุงเทพตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า ผู้ต้องขังหญิงและผู้กระทำผิดหญิงมีความต้องการเฉพาะด้านที่ต่างไปจากผู้ต้องขังชาย และเนื่องจากผู้ต้องขังหญิงเป็นประชากรกลุ่มน้อยในกระบวนการยุติธรรม ทำให้เรือนจำในประเทศต่างๆ มักถูกออกแบบขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการเฉพาะด้านของผู้หญิง อาทิ เรื่องสุขอนามัย สุขภาพผู้หญิง การดูแลเด็กติดผู้ต้องขัง ทำให้การดูแลผู้ต้องขังหญิงในหลายประเทศ ยังขาดความละเอียดอ่อนด้านเพศสภาพ (gender sensitivity)



การเปลี่ยนแปลงในองค์ประกอบประชากรผู้ต้องขังในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมานั้น ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของเรือนจำในการตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะด้านของผู้ต้องขังหญิง ด้วยจำนวนผู้ต้องขังหญิงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นานาประเทศจึงตระหนักในความจำเป็นที่จะต้องมีข้อแนะนำเพื่อเป็นมาตรฐาน สำหรับผู้ปฏิบัติงานราชทัณฑ์ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังกลุ่มนี้



การจัดทำร่างข้อเสนอประเทศไทยเพื่อผลักดันเป็นข้อกำหนดสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงนี้ ไม่ได้มีจุดประสงค์สร้างความแตกต่างหรือเลือกปฏิบัติ แต่เน้นให้เกิดมีมาตรฐานความเท่าเทียมกันในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังทั้งสองเพศเท่านั้น โดยไม่ได้มุ่งให้มีการลบล้าง เปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ฉบับปี ค.ศ. ๑๙๕๕ แต่จะให้เป็นแนวทางเพิ่มเติมในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงสำหรับเรือนจำของประเทศต่างๆ โดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นที่เป็นความแตกต่างและความต้องการที่เพศหญิงมีและต่างไปจากเพศชาย อีกทั้งร่าง“ข้อกำหนดสหประชาชาติ” นี้ไม่ได้มุ่งเน้นที่จะทำให้ผู้ต้องขังหญิงมีอภิสิทธิเหนือผู้ต้องขังชาย หรือได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่า แต่มุ่งจะเติมในส่วนที่ผู้ต้องขังสตรีขาดโอกาสหรือถูกละเลย เพื่อให้ได้รับในสิ่งที่พึงจะได้รับอย่างเท่าเทียมกันเท่านั้น



โดยข้อกำหนดกรุงเทพจะเป็นส่วนเพิ่มเติมที่สอดคล้อง กับข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติ สำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ค.ศ.1955 (UN Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners หรือ SMR) รวมถึงข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดโดยไม่ใช้เรือนจำ (UN Standard Minimum Rules for Non-custodial Measures หรือ Tokyo Rules) ทั้งนี้เพื่อให้การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและผู้กระทำผิดหญิงเป็นไปอย่างเคารพซึ่งสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น



ข้อกำหนดกรุงเทพ มุ่งเน้นการวางแนวปฏิบัติในประเด็นที่เป็นความแตกต่างและความต้องการที่เพศหญิงมีและต่างไปจากเพศชาย ซึ่งเนื้อหาของ “ข้อกำหนดสหประชาชาติ” นั้น ได้มาจากการศึกษาผลงานการศึกษาวิจัยในเรื่องการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงทั่วโลก และยังได้นำเอากฎหมายและข้อกำหนดระหว่างประเทศว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงหลายฉบับ1 มาเพื่ออ้างอิงและกลั่นกรองให้เนื้อหาของ “ข้อกำหนดสหประชาชาติ” มีความสอดคล้องและสามารถใช้ร่วมกันได้กับกฎหมายและข้อกำหนดที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อให้ “ข้อกำหนดสหประชาชาติ” มีเนื้อหาที่ครอบคลุมถึงผู้กระทำผิดหญิงและผู้ต้องขังหญิงทุกประเภท และการปฏิบัติที่ควรจะเป็นต่อผู้ต้องขังหญิงเหล่านั้น รวมไปถึงการเปิดโอกาสให้ชุมชนและสังคมโดยรวมเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้แบ่งออกเป็นสี่ส่วน ดังนี้


1a) The 1955 United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners;
b) United Nations Standard Minimum Rules for Non-custodial Measures (The Tokyo Rules)
c) The 1988 Body of Principles for the Protection of All Persons under Any Form of Detention or Imprisonment;
d) The 1990 Basic Principles for the Treatment of Prisoners, and
e) United Nations Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women (CEDAW)

1

ส่วนที่ ๑ ข้อกำหนดทั่วไป (Rules of General Application) ซึ่งว่าด้วยการบริหารจัดการเรือนจำโดยทั่วไป และใช้กับผู้กระทำผิดเพศหญิงที่อยู่ในระหว่างการควบคุมทุกประเภท ทุกสถานะคดี ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา รวมไปถึงผู้หญิงที่ถูกควบคุมด้วยมาตรการเพื่อความปลอดภัยหรือมาตรการกักกัน (security measures or corrective measures)

2

ส่วนที่ ๒ ข้อกำหนดที่ใช้สำหรับผู้ต้องขังลักษณะพิเศษ (Rules Applicable to Special Categories) ซึ่งเป็นส่วนที่ว่าด้วยการจำแนกลักษณะและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงที่มีลักษณะพิเศษแต่ละประเภท เช่น ผู้ต้องขังที่เคยเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรง ผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์ และผู้ต้องขังซึ่งเป็นชนพื้นเมือง ชนกลุ่มน้อย หรือชนเผ่า เป็นต้น โดยแบ่งออกเป็นส่วน A ข้อกำหนดที่ใช้กับผู้ต้องขังที่มีกำหนดโทษ และส่วน B ข้อกำหนดที่ใช้กับผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาและสอบสวน ซึ่งข้อกำหนดในส่วน A นั้น สามารถนำมาใช้กับผู้ต้องขังตามส่วน B ได้เท่าที่จะไม่เป็นการขัดกัน หรือเพื่อประโยชน์เป็นการเฉพาะของผู้ต้องขังหญิงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

3

ส่วนที่ ๓ มาตรการในการลงโทษโดยไม่ใช้เรือนจำ (Non-Custodial Sanctions and Measures) มุ่งใช้บังคับกับผู้กระทำผิดหญิงที่กระทำความผิดไม่รุนแรง ประกอบกับมีปัจจัยทางกายภาพที่ไม่เหมาะกับการถูกคุมขัง เช่น เยาวชนหญิง และผู้กระทำผิดที่ตั้งครรภ์ โดยข้อกำหนดในส่วนที่ ๓ นี้ สามารถใช้บังคับได้ตั้งแต่ในชั้นการสอบสวน จนกระทั่งหลังมีคำพิพากษา

4

ส่วนที่ ๔ การวิจัย การวางแผน การประเมินผล และการสร้างการรับรู้ในหมู่ประชาชน (Research, Planning, Evaluation and Public Awareness Raising) เป็นข้อกำหนดที่สนับสนุนให้มีการวิเคราะห์วิจัยถึงพฤติกรรมและพฤติการณ์เกี่ยวข้องต่างๆ ที่เป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำผิดในกลุ่มผู้หญิง รวมถึงการศึกษาผลกระทบจากการถูกคุมขังที่มีต่อผู้ต้องขังและบุตร นอกจากนี้ ยังต้องการให้มีการกำหนดกิจกรรมที่จะลดการกระทำผิดซ้ำ อันเป็นส่วนหนึ่งของการส่งคนดีกลับคืนสู่สังคม โดยการดำเนินการต่างๆ ดังกล่าวนี้ จะต้องมีการเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบ โดยอาศัยความร่วมมือจากบรรดาสื่อสารมวลชน

ประเทศไทยและข้อกำหนดกรุงเทพ

ความพยายามอย่างต่อเนื่องของประเทศไทยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ จนนำไปสู่การรับรองข้อกำหนดกรุงเทพโดยองค์การสหประชาชาติ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงมีความสนพระทัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง และเด็กในกระบวนการยุติธรรม โดยเมื่อครั้งที่เสด็จเยี่ยมชมและประทานสิ่งของแก่ผู้ต้องขังหญิง และเด็กติดผู้ต้องขัง ณ ทัณฑสถานหญิงกลาง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2544 ทรงได้สัมผัสกับชีวิตของผู้ต้องขังที่ขาดโอกาส จึงเกิดเป็นแรงบันดาลพระทัยในการให้ความช่วยเหลือประชากร กลุ่มเปราะบางเหล่านี้ และริเริ่มโครงการต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิงและเด็กติดผู้ต้องขัง โดยมีกระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง



โดยเมื่อ พ.ศ. 2549 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาทรงมีพระดำริให้จัดตั้งโครงการกำลังใจขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือ ดูแลด้านสุขภาพ และให้สนับสนุนด้านจิตใจแก่ผู้ต้องขังหญิง ทั้งในขณะจำคุกและภายหลังได้รับการปล่อยตัว โดยมุ่งเน้นการให้โอกาสผู้ต้องขังหญิงในการกลับคืนสู่สังคม ตลอดจนส่งเสริมให้สังคมไทยได้เข้าใจปัญหาของผู้ที่เคยทำผิดพลาดที่ต้องการโอกาสเริ่มต้นใหม่



สืบเนื่องจากความสำเร็จของโครงการกำลังใจ กระทรวงยุติธรรมได้จัดตั้งโครงการ Enhancing Lives of Female Inmates (ELFI) หรือ โครงการจัดทำข้อเสนอในนามประเทศไทยเพื่อผลักดัน ให้เป็นข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง เมื่อ พ.ศ. 2551 โดยเป็นโครงการระดับนานาชาติที่มุ่งต่อยอดความสำเร็จจากการช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิง ภายในประเทศไปสู่การปรับปรุงมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในระดับสากลโดยผ่านยุทธศาสตร์การทูตเชิงรุก จนกระทั่งได้เจรจาโน้มน้ามและแสวงหาความร่วมมือทั้งจากกลุ่มนักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานราชทัณฑ์ รวมทั้งผู้แทนประเทศต่างๆ ในเวทีสหประชาชาติ ในการจัดทำข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิดหญิงจนประสบผลสำเร็จ และได้รับการรับรองจากที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 65 ในปี พ.ศ. 2553 ทั้งนี้ การตั้งชื่อย่อของข้อกำหนดสหประชาชาติฉบับนี้ว่า “ข้อกำหนดกรุงเทพ” เนื่องมาจาก องค์การสหประชาชาติต้องการให้เกียรติประเทศไทยในฐานะเป็นผู้ริเริ่มผลักดันจนข้อกำหนด ดังกล่าวมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

วิดีโอแนะนำเกี่ยวกับข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-Custodial Measures for Women Offenders) หรือ ข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) ซึ่งถือเป็นเป็นมาตรฐานแรกที่ยอมรับกันในระดับสากลเพื่อให้ประเทศต่างๆ ยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง และผู้กระทำผิดหญิง โดยคำนึงถึงความแตกต่างทางด้านเพศภาวะของผู้หญิงในเรือนจำและเด็กติดผู้ต้องขัง ข้อกำหนดดังกล่าวมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการยกระดับการดูแลผู้ต้องขังหญิงทั่วโลก

เส้นทางสู่การรับรองข้อกำหนดกรุงเทพ

ตุลาคม 2549 - โครงการกำลังใจ
โครงการกำลังใจจัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี เมื่อปี พ.ศ. 2549 เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังหญิงในประเทศไทย โครงการกำลังใจเริ่มต้นจากการเข้าไปปรับปรุงคุณภาพชีวิตและเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์และทารกที่เกิดในทัณฑสถานหญิงกลาง และต่อมาได้ขยายไปสู่เรือนจำอื่นๆ ทั่วประเทศ อีกทั้งขยายการช่วยเหลือไปสู่ความช่วยเหลือด้านจิตใจ สุขภาพ ตลอดจนโอกาสในการฝึกอาชีพหลายประเภทให้กับผู้ต้องขังหญิง โดยวัตถุประสงค์หลักของโครงการคือการให้ความช่วยเหลือและเป็นกำลังใจให้กับกลุ่มผู้ที่ก้าวพลาด พร้อมทั้งส่งเสริมให้สังคมไทยเป็นสังคมที่พร้อมจะเป็นกำลังใจและให้โอกาสแก่ผู้ที่พร้อมเริ่มต้นชีวิตใหม่เป็นคนดีของสังคม

ภายใต้การดำเนินงานดังกล่าว ประเทศไทยได้นำเสนอแนวคิดและการดำเนินงานภายใต้โครงการกำลังใจต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (Commission on Crime Prevention and Criminal Justice – CCPCJ) สมัยที่ 17 ที่กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย ในปี พ.ศ. 2551 ซึ่งได้รับการตอบรับและความสนใจจากประเทศสมาชิกอย่างดียิ่ง

2551 – โครงการ ELFI
สืบเนื่องจากความสำเร็จของโครงการกำลังใจในการยกระดับความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังหญิงภายในประเทศ กระทรวงยุติธรรมจึงริเริ่ม โครงการจัดทำข้อเสนอประเทศไทยเพื่อผลักดันเป็นข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง (Enhancing Lives of Female Inmates – ELFI) ในปี พ.ศ. 2551 เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงทั่วโลกให้ทันสมัยและเป็นรูปธรรม วัตถุประสงค์หลักของโครงการ ELFI คือ การมุ่งส่งเสริมให้มีการพัฒนามาตรฐานระหว่างประเทศเพื่อนำมาเสริมข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง หรือ UN Standard Minimum Rules on the Treatment of Prisoners (SMR) ที่รับรองเมื่อปี ค.ศ. 1955 โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับผู้ต้องขังหญิงและความต้องการเฉพาะของผู้ต้องขังหญิง ตลอดจนการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้หญิง และเป็นการต่อยอดจากข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยมาตรการที่มิใช่การคุมขัง หรือข้อกำหนดโตเกียว รับรองเมื่อปี ค.ศ. 1990

ภายใต้โครงการ ELFI ประเทศไทยได้ขับเคลื่อนกิจกรรมในเวทีระหว่างประเทศต่างๆ มากมาย เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องขังหญิง และแสวงหาพันธมิตรในการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายระหว่างประเทศที่เป็นรูปธรรม อาทิ การประชุมระดับโลกว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 12 จัดโดยมูลนิธิการป้องกันอาชญากรรมแห่งเอเชีย ณ เมืองอูลานบาตอร์ ประเทศมองโกเลีย การประชุมประจำปีสมัยที่ 10 ของสมาคมราชทัณฑ์และเรือนจำระหว่างประเทศ ณ กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ค และการประชุมของสมาคมอาชญาวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา ประจำปี พ.ศ. 2552 ณ รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา

กุมภาพันธ์ 2552 - การประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ
นอกจากการสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นเกี่ยวกับผู้ต้องขังหญิงแล้ว ประเทศไทยยังได้ดำเนินการเพื่อเตรียมการด้านสารัตถะเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและผู้กระทำผิดหญิง โดยรัฐบาลไทยได้จัดการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ (International Expert Roundtable Meeting) ขึ้น ระหว่างวันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ 2552 ณ กรุงเทพมหานคร โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชญาวิทยาจากประเทศต่างๆ จากทั่วทุกภูมิภาค ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงาน NGO และผู้แทนสำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม (United Nations Office on Drugs and Crime - UNODC) เข้าร่วม เพื่อยกร่างแนวทางการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและผู้กระทำผิดหญิงที่มีความครบถ้วนรอบด้านในเชิงประเด็น โดยใช้โครงสร้างและกรอบแนวคิดของ SMR ประกอบกับข้อมูลวิชาการและแนวปฏิบัติที่ดีต่างๆ จนได้มาซึ่ง “ร่างข้อกำหนดว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง”
ภายหลังจากการประชุมดังกล่าว ประเทศไทยก็ได้นำเสนอแนวความคิดในการพัฒนามาตราฐานระหว่างประเทศเกี่ยวกับผู้ต้องขังและผู้กระทำผิดหญิงเป็นการเฉพาะ ในเวทีการประชุมเตรียมการระดับภูมิภาคสำหรับการประชุม UN Crime Congress สมัยที่ 12 ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ ละตินและแคริบเบียน (พฤษภาคม 2552) เอเชียตะวันตก (มิถุนายน 2552) เอเชียแปซิฟิก (กรกฎาคม 2552) และอัฟฟริกา (กันยายน 2552) เพื่อแสวงหาการสนับสนุนในระดับระหว่างประเทศ

เมษายน 2552 – การประชุมคณะกรรมาธิการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 18
เพื่อสนับสนุนให้แนวความคิดเรื่องการพัฒนามาตรฐานระหว่างประเทศเกี่ยวกับผู้ต้องขังและผู้กระทำผิดหญิงได้เข้าสู่กลไกการพิจารณาของสหประชาชาติอย่างเป็นทางการ ประเทศไทยได้นำเสนอร่างข้อมติที่ 18/1 ว่าด้วย “Supplementary Rules Specific to the Treatment of Women in Detention and in Custodial and Non-Custodial Setting” ต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (Commission on Crime Prevention and Criminal Justice – CCPCJ) สมัยที่ 18 ระหว่างวันที่ 16 – 24 เมษายน 2551 ณ กรุงเวียนนา เพื่อขออาณัติในการจัดการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ และริเริ่มให้เกิดการเจรจาเกี่ยวกับร่างข้อกำหนดว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิงอย่างเป็นทางการ ร่างข้อมติดังกล่าวส่งผลให้ที่ประชุม CCPCJ มีมติให้ UNODC จัดการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ (International Expert Group Meeting) ภายใต้การสนับสนุนของประเทศไทยในฐานะประเทศเจ้าภาพ เพื่อยกร่างข้อกำหนดเกี่ยวกับการดูแลผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังเป็นการเฉพาะ โดยอ้างอิงผลลัพธ์จากการประชุม Roundtable Meeting ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ณ กรุงเทพมหานคร และให้รายงานผลการประชุมไปยังที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 12 (the 12th UN Congress on Crime Prevention and Criminal Justice) ณ เมืองซัลวาดอร์ ในเดือนเมษายน 2553

พฤศจิกายน 2551 – การประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญนานาชาติเพื่อพิจารณาร่างข้อกำหนด
สืบเนื่องจากข้อมติ CCPCJ รัฐบาลไทยจึงเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ (Open ended Intergovernmental Expert Group Meeting) ในนามสหประชาชาติ ระหว่างวันที่ 23-26 พฤศจิกายน 2551 ณ กรุงเทพมหานครโดยมีผู้แทนจากกว่า 25 ประเทศทั่วโลก เพื่อร่วมกันพิจารณาร่างข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิงอย่างเป็นทางการ โดยท้ายที่สุด ที่ประชุมได้มีฉันทามติร่วมกันในเนื้อหาของร่างข้อกำหนดดังกล่าว ซึ่งมีทั้งหมด 70 ข้อ โดยร่างข้อกำหนดอันเป็นผลลัพธ์ของการประชุมดังกล่าวสะท้อนถึงแนวปฏิบัติที่ดีทั้งหลายที่ได้ถือกำเนิดขึ้นในประเทศต่างๆ และข้อเสนอแนะจากองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นหลักประกันที่ยั่งยืนสำหรับผู้ต้องขังหญิงและผู้กระทำผิดหญิงทั่วโลก

เมษายน 2553 – การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 12
ร่างข้อกำหนดฯ ที่ผ่านการรับรองโดยการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญนานาชาติได้ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 12 (the 12th UN Congress on Crime Prevention and Criminal Justice) ณ เมืองซัลวาดอร์ ประเทศบราซิล ระหว่างวันที่ 12- 19 เมษายน 2553 โดยประเทศไทยยังคงดำเนินการทางการทูตเพื่อแสวงหาแนวร่วมและฐานการสนับสนุนร่างข้อกำหนดดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ การกล่าวถ้อยแถลงในช่วงการการหารือระดับสูง การบรรยายสรุปเพื่อสร้างความเข้าใจ และการจัดแสดงนิทรรศการ จนสามารถผลักดันให้มีถ้อยคำสนับสนุนร่างข้อกำหนดดังกล่าวในปฏิญญาซัลวาดอร์ อันถือเป็นเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันของนานาประเทศในด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา

“We welcome the draft United Nations rules for the treatment of women prisoners and non-custodial measures for women offenders. Taking note of the outcome and the recommendations of the meeting of the expert group to develop supplementary rules specific to the treatment of women in detention and in custodial and non-custodial settings, we recommend that the Commission on Crime Prevention and Criminal Justice consider them as a matter of priority for appropriate action.” (Paragraph 50 of the Salvador Declaration)

พฤษภาคม 2553 – การประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 19
สืบเนื่องจากผลการประชุม 12th UN Congress ร่างข้อกำหนดฯ ได้ถูกนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (Commission on Crime Prevention and Criminal Justice – CCPCJ) สมัยที่ 19 ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงเวียนนา ระหว่างวันที่ 17-21 พฤษภาคม 2553 โดยประเทศไทยได้นำเสนอร่างข้อมติว่าด้วย “ United Nations rules for the treatment of Women prisoners and non-custodial measures for women offenders (the Bangkok Rules)” พร้อมด้วยร่างข้อกำหนดฯ ซึ่งเป็นเอกสารแนบท้าย เพื่อเรียกร้องให้สมัชชาสหประชาชาติ (General Assembly) พิจารณารับรองร่างข้อกำหนดฯ อย่างเป็นทางการ โดยผลจากการประชุม 19th CCPCJ ถือเป็นความสำเร็จประการสำคัญ เพราะนอกจากที่ประชุมจะได้รับรองร่างข้อมติ พร้อมร่างข้อกำหนดฯ แนบท้ายแล้ว ยังมีประเทศแจ้งขอร่วมอุปถัมภ์ (co-sponsor) ร่างข้อมติดังกล่าว จำนวน 7 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา แคนนาดา เวเนซูเอลา เอลซัลวาดอร์ และโกตดิวัวร์

กรกฎาคม 2553 – การประชุมคณะมนตรีด้านเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ
เพื่อเป็นไปตามกลไกการพิจารณาของสหประชาชาติ ร่างข้อมติที่ผ่านการับรองโดยที่ประชุม CCPCJ ถูกนำเสนอต่อที่ประชุมคณะมนตรีด้านเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Economic and Social Council - ECOSOC) ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน - 22 กรกฎาคม 2553 ณ นครนิวยอร์กโดยการประชุมในช่วง General Segment ระหว่างวันที่ 16 - 22 กรกฎาคม 2553 ได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการภายใต้ ECOSOC ซึ่งรวมถึงรายงานการประชุม CCPCJ สมัยที่ 19 ตลอดจนข้อมติต่างๆ ที่ได้รับการรับรองจากที่ประชุม รวมถึงร่างข้อมติของประเทศไทยเรื่อง “United Nations rules for the treatment of women prisoners and non-custodial measures for women offenders (the Bangkok Rules)” พร้อมร่างข้อกำหนดฯ แนบท้าย โดยท้ายที่สุดที่ประชุม ECOSOC ได้รับรองข้อมติดังกล่าว เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2553 พร้อมทั้งเสนอแนะให้นำร่างข้อมติเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 65 ต่อไป

ธันวาคม 2553 - การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 65
ความพยายามในการผลักดันร่างข้อกำหนดกรุงเทพมาถึงจุดหมาย การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 65 (65th United Nations General Assembly- UNGA) ซึ่งมีขึ้นช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2553 ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และถือเป็นจุดเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์สำหรับขั้นตอนสุดท้าย เพราะเป็นเวทีที่ทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบและรับรองร่างข้อกำหนดฯ อย่างเป็นทางการ ร่างข้อมติพร้อมร่างข้อกำหนดฯ แนบท้าย ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการ 3 (The Third Committee) โดยที่ประชุมได้ให้การรับรองร่างข้อมติดังกล่าวในวันที่ 14 ตุลาคม 2553 และในที่สุดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ 65 ได้ให้การรับรอง “ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง” อย่างเป็นทางการ และเพื่อให้เกียรติประเทศไทยในฐานะผู้ผลักดันและมีบทบาทนำในเรื่องนี้ สหประชาชาติจึงกำหนดชื่อเรียกย่อของข้อกำหนดนี้ว่า “ข้อกำหนดกรุงเทพ”